เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเมื่อไหร่ สภาพอากาศก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วโดยอากาศอาจเริ่มร้อนตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ก่อนที่จะเริ่มเย็นลงเมื่อมีฝนตกในยามบ่าย นอกไปจากระดับอุณหภูมิที่ลดลงแล้วนั้นระดับความชื้นในอากาศยังเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เหล่าเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากขาดการดูแลร่างกายอย่างเหมาะสมหรือในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอเป็นทุนเดิมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลทำให้มีอาการเจ็บคอ ไอ หรือเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงตามมาได้ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ควรระมัดระวังในช่วงหน้าฝนมีอะไรบ้าง? พร้อมวิธีป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับฝน
รวมโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มากับฝน
โรคไข้หวัด (Common Cold)
โรคไข้หวัดเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศเริ่มหนาวเย็นลงและในช่วงฤดูฝนที่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว โรคไข้หวัดอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัสที่มีอยู่มากกว่า 200 ชนิดและโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า Coryza Viruses เมื่อมีอาการป่วยเป็นโรคไข้หวัดมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสแค่เพียงหนึ่งชนิด และเมื่อมีอาการป่วยในครั้งถัดไปมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่จึงเป็นสาเหตุทำให้เราสามารถป่วยเป็นโรคไข้หวัดได้อยู่บ่อยครั้ง
อาการของโรคไข้หวัด
หลังจากได้รับเชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสตัวกับผู้ป่วยหรือจากการไอจามรดกัน เชื้อไวรัสจะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 1-3 วัน โดยมีอาการของโรคไข้หวัด ดังนี้
- รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สบายตัว
- มีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
- สำหรับในเด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดอาจมีอาการจับไข้ขึ้นมาได้อย่างเฉียบพลัน
- มีไข้ ไอ เจ็บคอ ระคายเคืองในลำคอ
- มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกสีใส
อาการของโรคไข้หวัดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในช่วง 5-7 วันหลังรับเชื้อ โดยสามารถบรรเทาอาการของโรคไข้หวัดให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้วิธีรักษาไปตามอาการ เช่น การทานยาลดไข้ หรือใช้ยาแก้เจ็บคอ สเปรย์พ่นคอหรือจิบน้ำอุ่นเป็นประจำเมื่อมีอาการเจ็บคอ ไอ หากอาการของโรครุนแรงและเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการและทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
โรคติดเชื้อทางเดินระบบหายใจที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักพบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝนหรือฤดูที่อากาศหนาวชื้นมากขึ้น โรคไข้หวัดใหญ่มีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (Influenza A) เป็นเชื้อที่พบได้บ่อยมากที่สุดประมาณร้อยละ 80 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (Influenza B) และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (Influenza C) ที่พบได้ค่อนข้างน้อยและมีความรุนแรงน้อยมากที่สุด โดยกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้มากกว่าช่วงวัยอื่นๆ และในกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักทำให้มีอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่า
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายสู่บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดได้ผ่านการสัมผัสตัวผู้ป่วย การไอจามรดกันหรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูกและเสมหะ เมื่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-7 วัน และเริ่มแสดงอาการของโรคภายในช่วง 1-4 วันหลังจากได้รับเชื้อ
- มีไข้ขึ้นสูงอย่างเฉียบพลัน
- หนาวสั่น มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกระบอกตา
- มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกสีใส หายใจไม่สะดวก
- ไอแห้ง เจ็บคอ กลืนน้ำลายและกลืนอาหารได้ยาก จนทำให้เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด
- ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องถ่ายเหลวและอาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติเมื่อมีไข้สูง
โรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในระบบทางเดินหายใจสามารถหายเองได้ภายในช่วง 7-10 วัน หากมีอาการของโรคในระดับไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยสามารถใช้วิธีรักษาไปตามอาการของโรค เช่น การเช็ดตัวหรือทานยาลดไข้เมื่อผู้ป่วยตัวร้อน มีไข้สูง การใช้ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ยาแก้เจ็บคอ สเปรย์แก้เจ็บคอ เพื่อช่วยลดน้ำมูก ละลายเสมหะและช่วยทำให้ชุ่มคอ แต่หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็กอายุไม่ถึง 2 ปีหรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือคุณแม่ที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น หายใจได้ไม่เต็มอิ่ม หอบหืด กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบ (Pneumonia)
โรคปอดอักเสบหรือที่นิยมเรียกกันว่า “ปอดบวม” เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนที่อากาศมีระดับความชื้นเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบเป็นได้ทั้งโรคปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแต่เกิดจากการสูดดมเอามลภาวะ ฝุ่น ควันและสารเคมีต่างๆ เข้าสู่ปอดเป็นระยะเวลานาน และโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณปอดซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เช่น เชื้อไวรัส Respiratory Synsytial Virus (RSV) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) เชื้อไวรัสโคโรนา (Corona Virus) เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumoniae เชื้อ Atypical Bacteria เชื้อ Chlamydia Pneumoniae ฯลฯ โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน มักพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบและผู้สูงอายุในช่วง 55 ปีเป็นต้นไป ตลอดไปจนถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแออย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ
อาการของโรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวมสามารถแพร่กระจายติดต่อกันได้ผ่านทางการไอ จามหรือหายใจรดกัน การสำลักเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจเข้าสู่ปอด การลุกลามของเชื้อโรคจากอวัยวะข้างเคียงตลอดไปจนถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลและได้รับเชื้อหลังเข้ารับหัตถการบางอย่าง โดยเชื้อโรคปอดอักเสบอาจใช้เวลาในการฟักตัวได้ตั้งแต่ในช่วง 1-3 วัน หรืออาจนานถึง 4 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคนั้นๆ และระดับภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละบุคคล โดยมีอาการของโรคปอดอักเสบที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- มีไข้สูงร่วมกับมีอาการหนาวสั่น มีเหงื่อออกมากผิดปกติ
- หายใจเร็ว หายใจลำบาก หายใจได้ไม่เต็มปอด
- ไอมีเสมหะ เจ็บคอ
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดเมื่อยกระดูก
- มีอาการเจ็บหน้าอกโดยเฉพาะตอนไอ
- คลื่นไส้ อาเจียนหรืออาจมีการถ่ายเหลวร่วมด้วย
- อาการของโรคปอดอักเสบในกลุ่มเด็กเล็กอาจทำให้เด็กท้องอืด ทานอาหารได้น้อยลงและอาเจียน
- ในผู้สูงอายุอาจทำให้มีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ แต่มักมีอาการสับสน เซื่องซึม ตัดสินใจได้ช้าลง
โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่อาการของโรคไม่รุนแรงมากนักสามารถใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาแก้ไอหรือสเปรย์พ่นคอเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคให้ดีขึ้นตามลำดับ แต่หากวินิจฉัยอาการปอดอักเสบและพบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแพทย์จำเป็นจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการรักษา โดยอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นภายในช่วง 2-3 วันหลังได้รับยา ทั้งนี้หากตรวจพบอาการผิดปกติที่บ่งชี้ถึงโรคปอดอักเสบควรรีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น เกิดฝีในปอด มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะช็อกหมดสติหรืออวัยวะภายในล้มเหลวที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคคออักเสบ (Pharyngitis)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือมีฝนตกชุก โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะคออักเสบ เจ็บคอ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้มากถึงร้อยละ 90 เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ฯลฯ เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นในทางเดินหายใจจึงทำให้เกิดภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อภายในลำคอบริเวณส่วนหลังของช่องปากทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดบวม ผู้ป่วยโรคคออักเสบจึงมักมีอาการเจ็บคอ ไอ ระคายเคืองในลำคอ กลืนน้ำลายและกลืนอาหารลำบาก หากโรคคออักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้มีอาการของโรคที่รุนแรงมากกว่าและมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมกับสาเหตุและระดับความรุนแรงของโรค
อาการของโรคคออักเสบ
โรคคออักเสบเกิดขึ้นได้หลังจากการรับเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียในอากาศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหน้าฝนหรืออากาศเปลี่ยนแปลง รวมไปจนถึงการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหลังจากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไข้หวัด มีอาการเจ็บคอ คออักเสบ หลังจากที่ได้รับเชื้อไวรัสมาแล้วจะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 1-3 วัน และทำให้ผู้ป่วยคออักเสบมีอาการเหล่านี้
- มีอาการเจ็บคอ ไอ ระคายเคืองในลำคอ
- เสียงแหบ เสียงพร่าหรือเสียงเปลี่ยนไป
- อาจมีไข้ต่ำๆ
- มีน้ำมูกแบบใส
- มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- รู้สึกอ่อนเพลีย
โดยทั่วไปอาการคออักเสบ เจ็บคอ ระคายคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสสามารถรักษาให้ดีขึ้นไปตามอาการ หากมีไข้ต่ำๆ สามารถทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อให้ไข้ลดลง ใช้ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ยาแก้ไอหรือสเปรย์พ่นคอเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ ฯลฯ อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน แต่หากอาการเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ร่วมกับมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส คออักเสบบวมแดง ลิ้นไก่บวมแดง มีจุดหนองขาวที่ต่อมทอนซิลซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเพื่อช่วยรักษาอาการคออักเสบให้ดีขึ้นอย่างตรงจุด
โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
โรคหลอดลมอักเสบที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนที่อากาศชื้นมากขึ้น คือ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบจนทำให้เยื่อบุผิวภายในหลอดลมเกิดการอักเสบ ต่อมเมือกของหลอดลมขยายใหญ่ขึ้นและหลั่งสารคัดหลั่งออกมามากผิดปกติจนอุดกั้นระบบทางเดินหายใจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหายใจลำบาก หายใจไม่เต็มอิ่ม มีอาการไอ เจ็บคอและเจ็บหน้าอก โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันจากการติดเชื้อไวรัสเป็นโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจที่สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย
อาการของโรคหลอดลมอักเสบ
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบสามารถแพร่กระจายได้มากขึ้นในช่วงที่อากาศชื้นรวมไปจนถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 1-3 วัน และมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้
- มีอาการไอแบบมีเสมหะ เจ็บคอและจะไอมากขึ้นในช่วงที่อากาศเย็นลง
- รู้สึกหายใจติดขัด หายใจลำบาก หายใจได้ไม่เต็มอิ่ม
- มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
- มีไข้ต่ำๆ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายตัว
โดยทั่วไปโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันมักจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 7-10 วัน สามารถใช้วิธีรักษาไปตามอาการโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ทั้งนี้หากพบว่าอาการไอเรื้อรังนานเกินกว่า 2 สัปดาห์หรือบางรายอาจมีอาการไอนานเกินกว่า 8 สัปดาห์ มีเลือดปนออกมากับเสมหะหรือน้ำลาย รู้สึกเจ็บหน้าอกแปล๊บๆ อยู่บ่อยครั้ง ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดและใช้วิธีรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากหลอดลมไปสู่ปอดที่อันตรายมากขึ้น
วิธีป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในช่วงหน้าฝน
ถึงแม้ในช่วงหน้าฝนที่ระดับความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้นจึงอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย แต่เราก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด สถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวก
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดหรือผู้ที่มีอาการไอ จามมากผิดปกติ ในกรณีที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้านและหมั่นล้างทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์หรือสบู่ล้างมืออยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้ว จาน ชาม ผ้าเช็ดตัว คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และควรเป็นอาหารที่ปรุงสดใหม่ และควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อย 1.5 ลิตร/วัน
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นมากเป็นพิเศษควรรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอด้วยการเลือกใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาและนอนห่มผ้าให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมจ่อตัวตลอดเวลา
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย เช่น การเดินเร็ว วิ่งจ้อกกิ้ง การเต้นแอโรบิก การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน ฯลฯ
- การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ฯลฯ
- หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ต่ำๆ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มีอาการเจ็บคอ ไอ ระคายเคืองในลำคอ ฯลฯ ควรแยกตัวออกห่างและงดสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นรวมถึงสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน
สรุป
เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่อากาศเริ่มเย็นและมีความชื้นเพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุทำให้เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ โรคคออักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ เจ็บคอ ไอ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและหายใจได้ลำบาก อย่างไรก็ตามหากสังเกตพบอาการผิดปกติควรระมัดระวังและดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษเพื่อรักษาโรคให้ดีขึ้นตามอาการ และหากอาการรุนแรงเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคโดยละเอียดและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง